ฝึกลูกรักให้เป็นนักคิด ตอนที่ 1
เราเคยพบเห็นเด็ก(หรือแม้แต่บางคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม) แบบนี้กันไหมคะ
เป็นคนฉลาด แต่คิดไม่เป็น...
แก้ปัญหาไม่เป็น...
สร้างสรรค์ไม่เป็น...
ช่วยตัวเองไม่ได้...
คิดหรือทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้...
ไม่มีแนวทางในการคิดให้มีประสิทธิภาพ...
ไม่ว่าลูกเราจะเป็นเด็กฉลาดหรือไม่แค่ไหนก็ตามเราคงไม่อยากให้ลูกเราเป็นเด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบที่กล่าวถึงด้านบนกันใช่ไหมคะ อย่างที่เกริ่นกันไปเมื่อวานนี้ วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าสิ่งที่อาจารย์อุษณีย์แนะนำเกี่ยวกับฝึกทักษะการคิดมีอะไรบ้าง
1. การพัฒนาความจำ
2. การฝึกคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
3. การฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)
4. การฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์
5. การฝึกลูกเป็นนักประดิษฐ์
6. การฝึกลูกให้ตัดสินใจเป็น (Decision Making)
การพัฒนาความจำ
พูดถึงความจำ หลายคนคงสงสัยว่าเกี่ยวกับการคิดอย่างไร ยิ่งโรงเรียนเน้นให้เด็กจำยิ่งทำให้เด็กคิดไม่ค่อยออกแบบที่พบเห็นได้บ่อยในปัจจุบันแล้วยิ่งแล้วใหญ่ แต่จริงๆแล้วหากเราทบทวนดูจะพบว่า พื้นฐานของความคิดของเรามาจำความจำไม่ใช่หรือ?
หากเราจำแม่สูตรคูณไม่ได้ จะคิดเลขแต่ละทีต้องวิ่งหาเครื่องคิดเลขกันให้วุ่น จะเขียนข้อความหรือบทความสื่อสารกับใคร ถ้าจำไม่ได้ว่าศัพท์แต่ละตัวสะกดยังไงก็คงสื่อสารกับใครไม่ออกเป็นแน่ ไม่ก็กลายเป็นภาษาวิบัติ บ่องตง จุงเบย... ดังนั้นความจำไม่ใช่ของไม่ดี เพียงแต่เราต้องเลือกจำ จำให้เป็น ไม่ใช่จำโดยไม่คิด ไม่กรอง เหมือนเด็กๆที่เอาแต่ท่องๆๆ เพื่อสอบ พอสอบเสร็จแล้วก็ลืม การจำในลักษณะนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการเก็บขยะทางความคิด
เด็กไทยจำนวนมากไม่สามารถจำได้ดีเท่าที่ควร เพราะเลือกจำไม่เป็น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นของสำคัญ ผลการเรียนของเด็กไทยในปัจจุบันเลยตกต่ำอย่างที่เราทราบ
อ้าว แล้วจะทำอย่างไรเราจึงจะทำให้เกิดความจำอย่างมีประสิทธิภาพได้ล่ะ?
ด่านแรกของความจำคือ "สมาธิ" อาจารย์อุษณีย์ท่านพบว่าเด็กฉลาดๆ ไม่น้อยในปัจจุบันนิ่งไม่เป็น สมาธิขาดกลาง ข้อมูลที่เข้าไปเป็นแบบขาดๆวิ่นๆ การบันทึกอยู่ในระบบความจำจึงยาก และต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ เด็กจึงสามารถจำได้ดี
อีกประการหนึ่งคือ เราทุกคนมีระบบลืม การลืมข้อมูลจึงไม่ได้ใช้ข้อมูล เรื่องนี้แต่ละคนมีวิธีปรับปรุงวิธีจดจำแตกต่างกันออกไป บางครั้งเราจึงไม่อาจสอนหรือบังคับให้ลูกใช้วิธีตามแบบที่เราใช้ได้ผลมา แต่เราอาจนำประสบการณ์ของเรามาเป็นข้อแนะนำให้เขาลองแก้ไขการจำของเขาได้ ทางที่ดีคือ ควรให้ลูกหาวิธีจำหลายๆอย่าง แล้วดูว่าวิธีใดที่ช่วยเขาจัดระบบความจำได้มีประสิทธิภาพที่สุด
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราลืมง่าย คือเราไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจดู ดังนั้นเราก็ควรฝึกให้ลูกเป็นคนตั้งใจฟัง สมองลูกจะได้มีคำสั่งอีกชั้นหนึ่งโดยการจัดระบบข้อมูลและตอกย้ำว่าข้อมูลนี้มีความสำคัญ เวลาจำใช้จึงดึงข้อมูลออกมาใช้ได้ง่าย ยิ่งใครจัดระบบเก่งมีหลักในการจัดระบบข้อมูลในสมองได้ดี ก็จะกลายเป็นคนที่มี "ความจำดี" นั่นเอง
นอกจากนี้ก่อนที่จะให้ลูกจดจำอะไร พ่อแม่มีหน้าที่สำคัญในการแนะนำ และสอนให้ลูก "คัดกรอง" เนื้อหาที่ดีใส่ลงในสมองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดใดก็ตาม ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ละคร ข่าวสาร หรือข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต หลักๆคือต้องให้เด็กรู้จักเลือกคัดกรองเอาแต่สิ่งดีๆใส่ลงในสมอง มิฉะนั้น สมองของเราก็จะมีแต่ "ของเน่าเหม็น" อยู่เต็มไปหมด
ประการสุดท้ายที่อาจารย์ฝากไว้ คือ พ่อแม่ควรให้ลูกๆ ฝึกกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ เพราะความคิดไม่ได้หมายถึง การที่สมองเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการจดจำรูปแบบของความคิดเราด้วย ซึ่งการจัดกระบวนการทางความคิดที่ดี ย่อมทำให้เรามีโอกาสใช้ข้อมูลที่มีอยู่ได้มากขึ้นอีกด้วย
สำหรับกลยุทธ์ในการปรับปรุงและพัฒนาความจำนั้นมีหลายแบบ ตั้งแต่การเทคนิคแบบพื้นๆเช่น การจดบันทึก การหาความสัมพันธ์ของข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการเรียบเรียงและจัดระบบข้อมูลใหม่เพื่อให้สมองเราเห็นเป็นภาพและจดจำได้ดีขึ้น
โดยในหนังสือจะมีรายละเอียดและแบบฝึกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจำแบบต่างๆ เช่น การจำจากสิ่งที่เห็น, การอาศัยความสัมพันธ์กับภาพในใจ, การจัดกลุ่ม ลำดับชั้นหรือแยกประเภทของสิ่งต่างๆ, การจัดลำดับเหตุการณ์, การทำแผนที่การเรียนรู้ (Mind Mapping), การทำเป็นแผนภูมิ, การทำผังเปรียบเทียบ เป็นต้น
หรือใครจะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝึกความจำจากหนังสือเล่มอื่นๆเดี๋ยวนี้ก็มีออกมาให้ซื้อหาได้ทั่วไป ส่วนใครจะถนัดใช้วิธีแบบไหนกับการจำเรื่องอะไรบ้างอันนี้ก็ต้องลองฝึกกันดูค่ะ
สำหรับตอนต่อไปเราจะมาต่อกันเรื่อง การฝึกคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) กันนะคะ
--------------------------------------------------------------------
"นอกจากนี้หนังสือชุดนี้ยังอยากให้ท่านมีแนวทางที่จะพัฒนาลูกตามศักยภาพของเขา ความเก่งของคนมักเกิดจากการมุ่งเป็นคนดี และการมุ่งทักษะสำคัญที่จะทำให้เขาอยู่ในสังคมอย่างมีประโยชน์และมีความสุข เป็นสิ่งรับประกันได้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากกว่าการมุ่งเคี่ยวกรำให้ลูกเป็นอัจฉริยะ เพราะวันที่ท่านตั้งใจปั้นลูกให้เป็นอัจฉริยะให้ได้ วันนั้นลูกหมดโอกาสที่จะเป็นอัจฉริยะบุคคลแล้ว"
ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์
--------------------------------------------------------------------
No comments:
Post a Comment