Sunday, October 6, 2013

ฝึกลูกรักให้เป็นนักคิด ตอนที่ 2 การฝึกคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร?

ตามที่อาจารย์อุษณีย์ท่านได้นิยามไว้ในหนังสือ ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการทางปัญญาระดับสูงที่ใช้กระบวนการทางความคิดหลายๆ อย่างมารวมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้สร้างสรรค์ต้องมี อิสรภาพทางความคิด

บ่อยครั้งเราที่พบเห็นเด็กๆมีชีวิตที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ความฝันและความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นกลับค่อยๆเลือนหายไปเมื่อเด็กๆเหล่านี้โตขึ้น

แม้ไม่มีใครตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น แต่โอกาสที่เป็นไปได้คือ การถูกฝึกเป็นเป็นคนคับแคบ ทุกอย่างต้องถูกจำกัดอยู่ในกรอบด้วยคำว่า "ยังไม่มีใครเคยทำ", "เป็นไปไม่ได้หรอก" และอีกสารพัดการห้ามด้วยความหวังดี(?)ของผู้ใหญ่

ในความเป็นจริงแล้วเด็กที่มีแววนักสร้างสรรค์ มักเป็นคนที่มีลักษณะดังนี้

- กล้าที่จะเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น เป็นนักเสี่ยงตัวฉกาจ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ
- มีพลังในตนเอง มุมานะทำสิ่งที่ตนคิดจนเกิดความสำเร็จ แม้อาจไม่มีใครเห็นก็ตาม
- สนใจว่าตนเองจะรู้สึกและคิดอย่างไรมากกว่าจะสนใจว่าคนอื่นจะให้ตนคิดอย่างไร ต่อให้คนทั้งโลกมาบอกว่าอย่าทำ เด็กพวกนี้จะทำจนกว่าตนจะรู้เองว่าทำได้หรือไม่อย่างไร
- ชอบขบคิดปัญหา ยิ่งยาก ยิ่งชอบ ยิ่งปัญหาสลับซับซ้อน ยิ่งสนุก เด็กพวกนี้เห็นปัญหาแล้วตาลุกอยากคิดหาหนทางแก้ไขด้วยความคิดอันหลากหลาย

จินตนาการของเด็กๆมีอยู่เต็มหัวใจเสมอ หากเราไม่บั่นทอน แต่กระตุ้น ให้กำลังใจและส่งเสริมให้ลูกมีลักษณะของนักสร้างสรรค์ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นอย่างถูกวิธีเราก็มีโอกาสที่สร้างคนที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้สังคมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ดร.วาลลาส (Graham Wallas 1920s) ได้ค้นหาสูตรสำเร็จที่จะเป็นบันได้สู่กระบวนการสุดยอดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ 4 ขั้น ดังนี้

1. ขั้นเตรียมการ (Preparation)
ก่อนที่ใครจะสร้างสรรค์อะไรได้จะต้องมีความรู้พื้นฐานเสียก่อน เช่น คนที่จะวาดรูป ปั้นรูปคนได้ดีต้องเรียนรู้กายวิภาคของคนเสียก่อน คือต้องมีศาสตร์นำหน้าตามต่อด้วยศิลป์ งานจึงออกมางดงามวิจิตรบรรจง บางคนอาจมีพรสวรรค์อยากคิดสร้างสรรค์ปั้นแต่ง แต่ผลงานอาจไม่สมบูรณ์ถึงขั้นเด่นดังระดับชาติได้ เพราะขาดความรู้พื้นฐานนี่เอง

2. ขั้นฟูมฟักความคิด (Incubation)
การที่จะให้เกิดความคิดดีๆ จำเป็นต้องปล่อยให้สมองได้พักนิ่งๆ อยู่ในความคิด ทบทวนไปมา การพักผ่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักคิด ในทำนองเดียวกันเด็กๆที่ต้องเรียนเต็มวัน เสาร์อาทิตย์ไม่ว่างเว้นเพราะพ่อแม่จัดตารางเรียนให้จนแน่นเอี๊ยด ก็อาจหมดโอกาสเป็นคนรู้จักสร้างสรรค์อะไรได้เท่าที่ควรจะเป็น

3. ขั้นเกิดความกระจ่าง (Illumination)
เป็นขั้นที่นับเป็นความสำเร็จสูงสุด สิ่งที่พยายามขบคิดจะปรากฏคำตอบ เหมือนนิวตันนั่งอยู่ใต้โคนต้นแอปเปิ้ลแล้วผลแอปเปิ้ลหล่นลงมาก ก็เกิดความคิด "อะฮ้า!" ได้การแล้วแรงดึงดูดของโลกนี่เอง ที่ทำให้คนไม่หลุดโลก

4. ขั้นพิสูจน์ความคิด (Verification)
หลังจากที่ได้ความคิดมาแล้ว ต้องมีการพิสูจน์ว่าที่เราคิดไว้ถูกต้องหรือไม่ เช่น กาลิเลโอ ไปพิสูจน์ทฤษฏีของเขาที่หอเอนปิซา

ตรงนี้อาจารย์อุษณีย์ท่านฝากไว้ว่า การพิสูจน์ของเด็กอาจไม่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ แต่หากเราฝึกให้เขารู้จักพิสูจน์สิ่งที่ตนเองคิด ทดลองในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ในภายหน้าเราอาจจะได้นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักปราชญ์ หรือจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ที่เกิดในบ้านเราก็เป็นได้ ตรงกันข้ามถ้าเรายุให้เด็กมีแต่ความคิด แต่ไม่สนับสนุนให้พัฒนาความคิด เราอาจได้เด็กเพ้อฝันแทนที่จะได
้เด็กสร้างสรรค์



หน้าตาจริงๆของความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างไร?


เมื่อเราพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ เรามักคิดว่าต้องเป็นเรื่องแปลกใหม่เสมอ ตามจริงแล้วคุณลักษณะอื่นบางอย่างก็เป็นองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน และหากเราคอยแต่จะมองหาเด็กที่สร้างงานที่สร้างสรรค์ให้เราเห็นอย่างเดียว เราอาจจะหาเด็กเช่นนั้นได้ยากยิ่ง แต่ถ้าเราสังเกตลักษณะอื่นๆ ที่เป็นตัวช่วยชี้ว่าเด็กคนนี้มีแววสร้างสรรค์หรือมีลักษณะบางประการที่สามารถส่งเสริมให้เป็นคนสร้างสรรค์ได้ไม่ยากถ้าได้รับการกระตุ้นที่ดี และให้ความรู้เพียงพอ


ดร.กิลฟอร์ด นับเป็นคนแรกที่เสนอความคิดที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายในการพัฒนาแบบฝึกหรือจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็ก มองคุณภาพผลงานของความคิดออกเป็น 4 ลักษณะด้วยกัน คือ

1. ความคล่องตัว (Fluency) ลักษณะความคิดหลั่งไหลไม่ติดขัด เป็นคุณลักษณะเชิงปริมาณ ดังนั้นเมื่อเรายื่นโจทย์ให้เด็กจะเห็นว่ามีเด็กบางคนที่คิดไหลลื่นกว่าเพื่อน นี่ก็เริ่มมีแววสร้างสรรค์ประเภทหนึ่ง เช่น ถ้าถามเด็กว่า คำอะไรเอ่ย ขึ้นต้นด้วยคำว่า “แม่” เด็กคนตอบได้มากกว่าถือว่ามีความคล่องตัวกว่า

2. ความยืดหยุ่น (Flexibility) เป็นความสามารถที่จะมองหาทางออก หรือหาคำตอบ หรือมองอะไรมากกว่าหนึ่งด้าน หลากมิติ เป็นคุณลักษณะเชิงทิศทางคุณภาพของความคิด เช่น เมื่อถามคำที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “แม่” มีอะไรบ้าง เด็กคนที่ตอบได้แม้น้อยคำกว่า แต่มีความคิดหลายทิศทาง เช่น แม่น้ำ, แม่แรง, แม่กก, แม่เลี้ยง, แม่มด, แม่พิมพ์, แม่ยก, แม่เหล็ก, และแม่สาย ถือว่ามีความยืดหยุ่นกว่า เด็กที่ตอบได้มากคำแต่กลุ่มคำจริงๆอาจมีอยู่ไม่กี่พวก เช่น กลุ่มคำขึ้นต้นด้วยคำว่าแม่ที่ตามด้วยตัวสะกด และแม่ที่ตามด้วยประเภทของสัตว์ เป็นต้น

3. ความแปลกใหม่ (Originallity) คุณลักษณะนี้ส่วนใหญ่เราเข้าใจอยู่แล้ว และคนทั่วไปมักมองว่าเป็นความสำคัญที่โดดเด่นที่สุดของความคิดสร้างสรรค์ จนเข้าใจไปว่าความคิดสร้างสรรค์มีแต่ความแปลกใหม่เท่านั้น

4. ความละเอียดลออ (Elaboration) เป็นกระบวนการถักทอสายใยแห่งความคิดเข้าด้วยกันเป็นความสามารถที่จะขยายสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น มีความละเอียดลออมากขึ้น และเป็นความสามารถที่จะมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น


ยิ่งเขียนยิ่งยาวแฮะ ^^" ไม่รู้คนอ่านจะเบื่อหรือเปล่าแต่พยายามย่อให้มากที่สุดแล้วนะคะ เอาไว้ตอนต่อไปเราจะมาต่อเรื่อง การฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) กันค่ะ 

--------------------------------------------------------------------------
"อัจฉริยบุคคลอาจไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด คนฉลาดๆมีอยู่มากมาย แต่อย่างน้อยท่านเหล่านั้นคิดในเรื่องใหม่ คิดใหญ่ คิดไกล การคิดเช่นนี้ต้องอาศัยการฝึกความคิดและฝึกบุคลิกภาพทางความคิดให้กล้าคิด กล้าลอง กล้าทำ ที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่น หรือ "กล้าแบบตาบอดไม่กลัวเสือ

ความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นคุณลักษณะของผู้นำทางปัญญา ผู้พลิกประวัติศาสตร์ทางความคิดของโลกเสมอมา"

ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์
---------------------------------------------------------------------------




No comments:

Post a Comment