การฝึกให้ลูกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในฐานะที่เป็นฐานของการกรองความคิด กรองข้อมูล เป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจให้ถูกต้อง โดยกระบวนการฝึกคิดอย่างมีวิจารณญานนี้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้การฝึกฝนทักษะทางการคิดผ่านทั้งเหตุการณ์จำลองและเหตุการณ์จริงที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลายาวนาน
ถึงแม้จะไม่สามารถอธิบายกระบวนการทั้งหมดได้ในพื้นที่จำกัด แต่โดยสรุปแล้ว หลักๆแนวทางการฝึก คือ การเน้นหลักเหตุผล หลักตรรกศาสตร์การหาความคิดให้หลายทิศหลายทางก่อนสรุปหาเหตุผล สอนให้เด็กหัดสังเกตุ เหตุผลที่ไม่สมเหตุผล การฝึกการพิสูจน์เพื่อหาข้อสรุป การเปรียบเทียบ การหาข้ออ้างอิง การเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการฝึกก็เพื่อ
- ให้เด็กเข้าใจที่จะประเมินข้อมูล
- ชี้ประเด็นที่ชอบเอ่ยอ้างผิดๆถูกๆ
- มีความเข้าใจสิ่งที่ถูกเอ่ยอ้าง
- สามารถแยกแยะความแตกต่างว่า อะไรคือความรู้ ความจริง และอะไรเป็นเพียงความคิดเห็น
- รู้จักประมวลข้อมูล ประมวลความคิด
- รู้จักจัดลำดับข้อมูล
- รู้จักสรุปเหตุผลข้อมูลหรือประเด็นต่างๆ
- มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ รู้ว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ
- รู้จักใฝ่หาทางออกที่หลากหลายมากขึ้น หาหนทางใหม่ๆ
- รู้จักตั้งเป้าหมาย
- รู้จักที่จะวางแผนล่วงหน้า
- ทำงานเป็นระบบมากขึ้น
- มีความสามารถในเชิงเปรียบเทียบ และมองเห็นความแตกต่างของสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น
- ตัดสินใจได้ดี แม่นยำ มีหลักเกณฑ์
- รู้จักเปิดใจกว้าง ฟังความรอบด้าน ไม่ด่วนตัดสินใจโดยขาดข้อมูล
- มีการคาดการณ์ได้ดีขึ้น
สำหรับแนวทางการฝึกเราสามารถทำได้ในหลายสถานการณ์ โดยหลักสำคัญคือ ต้องมีหลักเกณฑ์ เข้าใจแนวความคิด แล้วใช้ทุกสถานการณ์สอนเด็ก เช่น
- เมื่อเด็กอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ หรือดูโทรทัศน์ ให้ฝึกหัดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาที่ได้รับรู้มา
- เมื่อฟังคนพูดคนเล่าหรือชักชวนให้เชื่อสิ่งใด เช่น โฆษณาซึ่งมักนำเสนอแต่ด้านดีๆ แต่จริงๆอาจมีการปิดบังข้อมูลอื่นๆ
- การฟังจากการบอกเล่าจากคนรู้จัก เช่น พ่อ แม่ ครู ญาติ หรือเพื่อน ก็อาจเป็นจุดอ่อนได้หากเราเชื่อข้อมูลเหล่านั้น 100% โดยไม่ใตร่ตรอง
ปัญหาที่พบบ่อยในการฝึกความคิดอย่างมีวิจารณญาณ หลักๆมีสองด้านคือ
1. ผู้ปกครองหรือครูมักไม่ทราบว่าความคิดอย่างมีวิจารณญาณคืออะไร ต้องฝึกอย่างไร
2. ผู้ปกครองหรือครูคิดว่าตนเองสอนให้เด็กมีเหตุผลอยู่แล้ว
ตรงนี้อ.อุษณีย์บอกว่า ไม่ควรยัดเยียดให้เด็กท่องจำข้อมูล แต่ควรสอนให้เขารู้จักตั้งคำถาม มองหาทางออกหลายๆ ทาง มองเห็นความเป็นไปได้หลายทิศ ลองให้สรุปหรือตั้งสมมุติฐาน ให้พิจารณาความคิดเห็นของตนเองว่าถูกผิดอย่างไร การถกปัญหา การตั้งคำถาม การกระตุ้นให้เด็กหาข้อมูลอย่างสมเหตุสมผล ตัดสินได้ว่าแหล่งข้อมูลหรือข้อมูลที่ได้มานั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ก่อนที่จะด่วนสรุปโดยขาดหลักฐาน หรือเหตุผลมารองรับ และที่สำคัญสิ่งเหล่านี้สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่ แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องตามลำดับขั้นการเรียนรู้ตามวัยของเขาค่ะ
วันนี้คงต้องขอจบเรื่อง การฝึกให้ลูกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ไว้เพียงเท่านี้ก่อน เนื้อหาส่วนต่อๆไปของหนังสือหวานเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะได้มีโอกาสสรุปให้เพื่อนๆอ่านอีกเมื่อไหร่ บ่ายโมงวันนี้คุณหมอก็นัดผ่าคลอดแล้ว หลังจากนี้ก็คงยุ่งๆกับเจ้าตัวเล็กและคงห่างหายจากการเขียนไปอีกซักพักเลยล่ะค่ะ
วันนี้คงต้องขอจบเรื่อง การฝึกให้ลูกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ไว้เพียงเท่านี้ก่อน เนื้อหาส่วนต่อๆไปของหนังสือหวานเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะได้มีโอกาสสรุปให้เพื่อนๆอ่านอีกเมื่อไหร่ บ่ายโมงวันนี้คุณหมอก็นัดผ่าคลอดแล้ว หลังจากนี้ก็คงยุ่งๆกับเจ้าตัวเล็กและคงห่างหายจากการเขียนไปอีกซักพักเลยล่ะค่ะ
No comments:
Post a Comment