Thursday, October 10, 2013

ฝึกลูกรักให้เป็นนักคิด ตอนที่ 3 การฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)

ในประเทศเรามีทั้งคนบางคนที่พูดอะไรๆ ใครๆก็เชื่อ และคนบางคนที่ใครๆ พูดอะไรก็เชื่อหมด จากหนังสือ อ.อุษณีย์ท่านชี้ให้เห็นว่าเกิดจากการที่คนสองคนนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องการใช้ความคิด คนแรกอาจพูดไม่จริงแต่สามารถหาเหตุผลชักจูงคนให้เชื่อได้ ในคนหลังกลับเป็นคนคิดแบบไม่รู้จักไตร่ตรอง คนไทยในปัจจุบันนี้ก็มีมากทั้งสองแบบโดยเฉพาะแบบหลัง 

การฝึกให้ลูกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในฐานะที่เป็นฐานของการกรองความคิด กรองข้อมูล เป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจให้ถูกต้อง โดยกระบวนการฝึกคิดอย่างมีวิจารณญานนี้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้การฝึกฝนทักษะทางการคิดผ่านทั้งเหตุการณ์จำลองและเหตุการณ์จริงที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลายาวนาน 

ถึงแม้จะไม่สามารถอธิบายกระบวนการทั้งหมดได้ในพื้นที่จำกัด แต่โดยสรุปแล้ว หลักๆแนวทางการฝึก คือ การเน้นหลักเหตุผล หลักตรรกศาสตร์การหาความคิดให้หลายทิศหลายทางก่อนสรุปหาเหตุผล สอนให้เด็กหัดสังเกตุ เหตุผลที่ไม่สมเหตุผล การฝึกการพิสูจน์เพื่อหาข้อสรุป การเปรียบเทียบ การหาข้ออ้างอิง การเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการฝึกก็เพื่อ

- ให้เด็กเข้าใจที่จะประเมินข้อมูล
- ชี้ประเด็นที่ชอบเอ่ยอ้างผิดๆถูกๆ
- มีความเข้าใจสิ่งที่ถูกเอ่ยอ้าง
- สามารถแยกแยะความแตกต่างว่า อะไรคือความรู้ ความจริง และอะไรเป็นเพียงความคิดเห็น
- รู้จักประมวลข้อมูล ประมวลความคิด
- รู้จักจัดลำดับข้อมูล
- รู้จักสรุปเหตุผลข้อมูลหรือประเด็นต่างๆ
- มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ รู้ว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ
- รู้จักใฝ่หาทางออกที่หลากหลายมากขึ้น หาหนทางใหม่ๆ
- รู้จักตั้งเป้าหมาย
- รู้จักที่จะวางแผนล่วงหน้า
- ทำงานเป็นระบบมากขึ้น
- มีความสามารถในเชิงเปรียบเทียบ และมองเห็นความแตกต่างของสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น
- ตัดสินใจได้ดี แม่นยำ มีหลักเกณฑ์
- รู้จักเปิดใจกว้าง ฟังความรอบด้าน ไม่ด่วนตัดสินใจโดยขาดข้อมูล
- มีการคาดการณ์ได้ดีขึ้น

สำหรับแนวทางการฝึกเราสามารถทำได้ในหลายสถานการณ์ โดยหลักสำคัญคือ ต้องมีหลักเกณฑ์ เข้าใจแนวความคิด แล้วใช้ทุกสถานการณ์สอนเด็ก เช่น

- เมื่อเด็กอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ หรือดูโทรทัศน์ ให้ฝึกหัดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาที่ได้รับรู้มา
- เมื่อฟังคนพูดคนเล่าหรือชักชวนให้เชื่อสิ่งใด เช่น โฆษณาซึ่งมักนำเสนอแต่ด้านดีๆ แต่จริงๆอาจมีการปิดบังข้อมูลอื่นๆ
- การฟังจากการบอกเล่าจากคนรู้จัก เช่น พ่อ แม่ ครู ญาติ หรือเพื่อน ก็อาจเป็นจุดอ่อนได้หากเราเชื่อข้อมูลเหล่านั้น 100% โดยไม่ใตร่ตรอง

ปัญหาที่พบบ่อยในการฝึกความคิดอย่างมีวิจารณญาณ หลักๆมีสองด้านคือ
1. ผู้ปกครองหรือครูมักไม่ทราบว่าความคิดอย่างมีวิจารณญาณคืออะไร ต้องฝึกอย่างไร 
2. ผู้ปกครองหรือครูคิดว่าตนเองสอนให้เด็กมีเหตุผลอยู่แล้ว 

ตรงนี้อ.อุษณีย์บอกว่า ไม่ควรยัดเยียดให้เด็กท่องจำข้อมูล แต่ควรสอนให้เขารู้จักตั้งคำถาม มองหาทางออกหลายๆ ทาง มองเห็นความเป็นไปได้หลายทิศ ลองให้สรุปหรือตั้งสมมุติฐาน ให้พิจารณาความคิดเห็นของตนเองว่าถูกผิดอย่างไร การถกปัญหา การตั้งคำถาม การกระตุ้นให้เด็กหาข้อมูลอย่างสมเหตุสมผล ตัดสินได้ว่าแหล่งข้อมูลหรือข้อมูลที่ได้มานั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ก่อนที่จะด่วนสรุปโดยขาดหลักฐาน หรือเหตุผลมารองรับ และที่สำคัญสิ่งเหล่านี้สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่ แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องตามลำดับขั้นการเรียนรู้ตามวัยของเขาค่ะ

วันนี้คงต้องขอจบเรื่อง การฝึกให้ลูกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ไว้เพียงเท่านี้ก่อน เนื้อหาส่วนต่อๆไปของหนังสือหวานเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะได้มีโอกาสสรุปให้เพื่อนๆอ่านอีกเมื่อไหร่ บ่ายโมงวันนี้คุณหมอก็นัดผ่าคลอดแล้ว หลังจากนี้ก็คงยุ่งๆกับเจ้าตัวเล็กและคงห่างหายจากการเขียนไปอีกซักพักเลยล่ะค่ะ

Sunday, October 6, 2013

ฝึกลูกรักให้เป็นนักคิด ตอนที่ 2 การฝึกคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร?

ตามที่อาจารย์อุษณีย์ท่านได้นิยามไว้ในหนังสือ ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการทางปัญญาระดับสูงที่ใช้กระบวนการทางความคิดหลายๆ อย่างมารวมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้สร้างสรรค์ต้องมี อิสรภาพทางความคิด

บ่อยครั้งเราที่พบเห็นเด็กๆมีชีวิตที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ความฝันและความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นกลับค่อยๆเลือนหายไปเมื่อเด็กๆเหล่านี้โตขึ้น

แม้ไม่มีใครตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น แต่โอกาสที่เป็นไปได้คือ การถูกฝึกเป็นเป็นคนคับแคบ ทุกอย่างต้องถูกจำกัดอยู่ในกรอบด้วยคำว่า "ยังไม่มีใครเคยทำ", "เป็นไปไม่ได้หรอก" และอีกสารพัดการห้ามด้วยความหวังดี(?)ของผู้ใหญ่

ในความเป็นจริงแล้วเด็กที่มีแววนักสร้างสรรค์ มักเป็นคนที่มีลักษณะดังนี้

- กล้าที่จะเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น เป็นนักเสี่ยงตัวฉกาจ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ
- มีพลังในตนเอง มุมานะทำสิ่งที่ตนคิดจนเกิดความสำเร็จ แม้อาจไม่มีใครเห็นก็ตาม
- สนใจว่าตนเองจะรู้สึกและคิดอย่างไรมากกว่าจะสนใจว่าคนอื่นจะให้ตนคิดอย่างไร ต่อให้คนทั้งโลกมาบอกว่าอย่าทำ เด็กพวกนี้จะทำจนกว่าตนจะรู้เองว่าทำได้หรือไม่อย่างไร
- ชอบขบคิดปัญหา ยิ่งยาก ยิ่งชอบ ยิ่งปัญหาสลับซับซ้อน ยิ่งสนุก เด็กพวกนี้เห็นปัญหาแล้วตาลุกอยากคิดหาหนทางแก้ไขด้วยความคิดอันหลากหลาย

จินตนาการของเด็กๆมีอยู่เต็มหัวใจเสมอ หากเราไม่บั่นทอน แต่กระตุ้น ให้กำลังใจและส่งเสริมให้ลูกมีลักษณะของนักสร้างสรรค์ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นอย่างถูกวิธีเราก็มีโอกาสที่สร้างคนที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้สังคมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ดร.วาลลาส (Graham Wallas 1920s) ได้ค้นหาสูตรสำเร็จที่จะเป็นบันได้สู่กระบวนการสุดยอดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ 4 ขั้น ดังนี้

1. ขั้นเตรียมการ (Preparation)
ก่อนที่ใครจะสร้างสรรค์อะไรได้จะต้องมีความรู้พื้นฐานเสียก่อน เช่น คนที่จะวาดรูป ปั้นรูปคนได้ดีต้องเรียนรู้กายวิภาคของคนเสียก่อน คือต้องมีศาสตร์นำหน้าตามต่อด้วยศิลป์ งานจึงออกมางดงามวิจิตรบรรจง บางคนอาจมีพรสวรรค์อยากคิดสร้างสรรค์ปั้นแต่ง แต่ผลงานอาจไม่สมบูรณ์ถึงขั้นเด่นดังระดับชาติได้ เพราะขาดความรู้พื้นฐานนี่เอง

2. ขั้นฟูมฟักความคิด (Incubation)
การที่จะให้เกิดความคิดดีๆ จำเป็นต้องปล่อยให้สมองได้พักนิ่งๆ อยู่ในความคิด ทบทวนไปมา การพักผ่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักคิด ในทำนองเดียวกันเด็กๆที่ต้องเรียนเต็มวัน เสาร์อาทิตย์ไม่ว่างเว้นเพราะพ่อแม่จัดตารางเรียนให้จนแน่นเอี๊ยด ก็อาจหมดโอกาสเป็นคนรู้จักสร้างสรรค์อะไรได้เท่าที่ควรจะเป็น

3. ขั้นเกิดความกระจ่าง (Illumination)
เป็นขั้นที่นับเป็นความสำเร็จสูงสุด สิ่งที่พยายามขบคิดจะปรากฏคำตอบ เหมือนนิวตันนั่งอยู่ใต้โคนต้นแอปเปิ้ลแล้วผลแอปเปิ้ลหล่นลงมาก ก็เกิดความคิด "อะฮ้า!" ได้การแล้วแรงดึงดูดของโลกนี่เอง ที่ทำให้คนไม่หลุดโลก

4. ขั้นพิสูจน์ความคิด (Verification)
หลังจากที่ได้ความคิดมาแล้ว ต้องมีการพิสูจน์ว่าที่เราคิดไว้ถูกต้องหรือไม่ เช่น กาลิเลโอ ไปพิสูจน์ทฤษฏีของเขาที่หอเอนปิซา

ตรงนี้อาจารย์อุษณีย์ท่านฝากไว้ว่า การพิสูจน์ของเด็กอาจไม่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ แต่หากเราฝึกให้เขารู้จักพิสูจน์สิ่งที่ตนเองคิด ทดลองในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ในภายหน้าเราอาจจะได้นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักปราชญ์ หรือจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ที่เกิดในบ้านเราก็เป็นได้ ตรงกันข้ามถ้าเรายุให้เด็กมีแต่ความคิด แต่ไม่สนับสนุนให้พัฒนาความคิด เราอาจได้เด็กเพ้อฝันแทนที่จะได
้เด็กสร้างสรรค์



หน้าตาจริงๆของความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างไร?


เมื่อเราพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ เรามักคิดว่าต้องเป็นเรื่องแปลกใหม่เสมอ ตามจริงแล้วคุณลักษณะอื่นบางอย่างก็เป็นองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน และหากเราคอยแต่จะมองหาเด็กที่สร้างงานที่สร้างสรรค์ให้เราเห็นอย่างเดียว เราอาจจะหาเด็กเช่นนั้นได้ยากยิ่ง แต่ถ้าเราสังเกตลักษณะอื่นๆ ที่เป็นตัวช่วยชี้ว่าเด็กคนนี้มีแววสร้างสรรค์หรือมีลักษณะบางประการที่สามารถส่งเสริมให้เป็นคนสร้างสรรค์ได้ไม่ยากถ้าได้รับการกระตุ้นที่ดี และให้ความรู้เพียงพอ


ดร.กิลฟอร์ด นับเป็นคนแรกที่เสนอความคิดที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายในการพัฒนาแบบฝึกหรือจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็ก มองคุณภาพผลงานของความคิดออกเป็น 4 ลักษณะด้วยกัน คือ

1. ความคล่องตัว (Fluency) ลักษณะความคิดหลั่งไหลไม่ติดขัด เป็นคุณลักษณะเชิงปริมาณ ดังนั้นเมื่อเรายื่นโจทย์ให้เด็กจะเห็นว่ามีเด็กบางคนที่คิดไหลลื่นกว่าเพื่อน นี่ก็เริ่มมีแววสร้างสรรค์ประเภทหนึ่ง เช่น ถ้าถามเด็กว่า คำอะไรเอ่ย ขึ้นต้นด้วยคำว่า “แม่” เด็กคนตอบได้มากกว่าถือว่ามีความคล่องตัวกว่า

2. ความยืดหยุ่น (Flexibility) เป็นความสามารถที่จะมองหาทางออก หรือหาคำตอบ หรือมองอะไรมากกว่าหนึ่งด้าน หลากมิติ เป็นคุณลักษณะเชิงทิศทางคุณภาพของความคิด เช่น เมื่อถามคำที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “แม่” มีอะไรบ้าง เด็กคนที่ตอบได้แม้น้อยคำกว่า แต่มีความคิดหลายทิศทาง เช่น แม่น้ำ, แม่แรง, แม่กก, แม่เลี้ยง, แม่มด, แม่พิมพ์, แม่ยก, แม่เหล็ก, และแม่สาย ถือว่ามีความยืดหยุ่นกว่า เด็กที่ตอบได้มากคำแต่กลุ่มคำจริงๆอาจมีอยู่ไม่กี่พวก เช่น กลุ่มคำขึ้นต้นด้วยคำว่าแม่ที่ตามด้วยตัวสะกด และแม่ที่ตามด้วยประเภทของสัตว์ เป็นต้น

3. ความแปลกใหม่ (Originallity) คุณลักษณะนี้ส่วนใหญ่เราเข้าใจอยู่แล้ว และคนทั่วไปมักมองว่าเป็นความสำคัญที่โดดเด่นที่สุดของความคิดสร้างสรรค์ จนเข้าใจไปว่าความคิดสร้างสรรค์มีแต่ความแปลกใหม่เท่านั้น

4. ความละเอียดลออ (Elaboration) เป็นกระบวนการถักทอสายใยแห่งความคิดเข้าด้วยกันเป็นความสามารถที่จะขยายสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น มีความละเอียดลออมากขึ้น และเป็นความสามารถที่จะมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น


ยิ่งเขียนยิ่งยาวแฮะ ^^" ไม่รู้คนอ่านจะเบื่อหรือเปล่าแต่พยายามย่อให้มากที่สุดแล้วนะคะ เอาไว้ตอนต่อไปเราจะมาต่อเรื่อง การฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) กันค่ะ 

--------------------------------------------------------------------------
"อัจฉริยบุคคลอาจไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด คนฉลาดๆมีอยู่มากมาย แต่อย่างน้อยท่านเหล่านั้นคิดในเรื่องใหม่ คิดใหญ่ คิดไกล การคิดเช่นนี้ต้องอาศัยการฝึกความคิดและฝึกบุคลิกภาพทางความคิดให้กล้าคิด กล้าลอง กล้าทำ ที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่น หรือ "กล้าแบบตาบอดไม่กลัวเสือ

ความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นคุณลักษณะของผู้นำทางปัญญา ผู้พลิกประวัติศาสตร์ทางความคิดของโลกเสมอมา"

ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์
---------------------------------------------------------------------------




ฝึกลูกรักให้เป็นนักคิด ตอนที่ 1

เราเคยพบเห็นเด็ก(หรือแม้แต่บางคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม) แบบนี้กันไหมคะ
เป็นคนฉลาด แต่คิดไม่เป็น...
แก้ปัญหาไม่เป็น...
สร้างสรรค์ไม่เป็น...
ช่วยตัวเองไม่ได้... 
คิดหรือทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้...
ไม่มีแนวทางในการคิดให้มีประสิทธิภาพ...

ไม่ว่าลูกเราจะเป็นเด็กฉลาดหรือไม่แค่ไหนก็ตามเราคงไม่อยากให้ลูกเราเป็นเด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบที่กล่าวถึงด้านบนกันใช่ไหมคะ อย่างที่เกริ่นกันไปเมื่อวานนี้ วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าสิ่งที่อาจารย์อุษณีย์แนะนำเกี่ยวกับฝึกทักษะการคิดมีอะไรบ้าง

1. การพัฒนาความจำ
2. การฝึกคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
3. การฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)
4. การฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์
5. การฝึกลูกเป็นนักประดิษฐ์
6. การฝึกลูกให้ตัดสินใจเป็น (Decision Making)

การพัฒนาความจำ

พูดถึงความจำ หลายคนคงสงสัยว่าเกี่ยวกับการคิดอย่างไร ยิ่งโรงเรียนเน้นให้เด็กจำยิ่งทำให้เด็กคิดไม่ค่อยออกแบบที่พบเห็นได้บ่อยในปัจจุบันแล้วยิ่งแล้วใหญ่ แต่จริงๆแล้วหากเราทบทวนดูจะพบว่า พื้นฐานของความคิดของเรามาจำความจำไม่ใช่หรือ?

หากเราจำแม่สูตรคูณไม่ได้ จะคิดเลขแต่ละทีต้องวิ่งหาเครื่องคิดเลขกันให้วุ่น จะเขียนข้อความหรือบทความสื่อสารกับใคร ถ้าจำไม่ได้ว่าศัพท์แต่ละตัวสะกดยังไงก็คงสื่อสารกับใครไม่ออกเป็นแน่ ไม่ก็กลายเป็นภาษาวิบัติ บ่องตง จุงเบย... ดังนั้นความจำไม่ใช่ของไม่ดี เพียงแต่เราต้องเลือกจำ จำให้เป็น ไม่ใช่จำโดยไม่คิด ไม่กรอง เหมือนเด็กๆที่เอาแต่ท่องๆๆ เพื่อสอบ พอสอบเสร็จแล้วก็ลืม การจำในลักษณะนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการเก็บขยะทางความคิด

เด็กไทยจำนวนมากไม่สามารถจำได้ดีเท่าที่ควร เพราะเลือกจำไม่เป็น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นของสำคัญ ผลการเรียนของเด็กไทยในปัจจุบันเลยตกต่ำอย่างที่เราทราบ

อ้าว แล้วจะทำอย่างไรเราจึงจะทำให้เกิดความจำอย่างมีประสิทธิภาพได้ล่ะ?

ด่านแรกของความจำคือ "สมาธิ" อาจารย์อุษณีย์ท่านพบว่าเด็กฉลาดๆ ไม่น้อยในปัจจุบันนิ่งไม่เป็น สมาธิขาดกลาง ข้อมูลที่เข้าไปเป็นแบบขาดๆวิ่นๆ การบันทึกอยู่ในระบบความจำจึงยาก และต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ เด็กจึงสามารถจำได้ดี

อีกประการหนึ่งคือ เราทุกคนมีระบบลืม การลืมข้อมูลจึงไม่ได้ใช้ข้อมูล เรื่องนี้แต่ละคนมีวิธีปรับปรุงวิธีจดจำแตกต่างกันออกไป บางครั้งเราจึงไม่อาจสอนหรือบังคับให้ลูกใช้วิธีตามแบบที่เราใช้ได้ผลมา แต่เราอาจนำประสบการณ์ของเรามาเป็นข้อแนะนำให้เขาลองแก้ไขการจำของเขาได้ ทางที่ดีคือ ควรให้ลูกหาวิธีจำหลายๆอย่าง แล้วดูว่าวิธีใดที่ช่วยเขาจัดระบบความจำได้มีประสิทธิภาพที่สุด

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราลืมง่าย คือเราไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจดู ดังนั้นเราก็ควรฝึกให้ลูกเป็นคนตั้งใจฟัง สมองลูกจะได้มีคำสั่งอีกชั้นหนึ่งโดยการจัดระบบข้อมูลและตอกย้ำว่าข้อมูลนี้มีความสำคัญ เวลาจำใช้จึงดึงข้อมูลออกมาใช้ได้ง่าย ยิ่งใครจัดระบบเก่งมีหลักในการจัดระบบข้อมูลในสมองได้ดี ก็จะกลายเป็นคนที่มี "ความจำดี" นั่นเอง

นอกจากนี้ก่อนที่จะให้ลูกจดจำอะไร พ่อแม่มีหน้าที่สำคัญในการแนะนำ และสอนให้ลูก "คัดกรอง" เนื้อหาที่ดีใส่ลงในสมองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดใดก็ตาม ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ละคร ข่าวสาร หรือข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต หลักๆคือต้องให้เด็กรู้จักเลือกคัดกรองเอาแต่สิ่งดีๆใส่ลงในสมอง มิฉะนั้น สมองของเราก็จะมีแต่ "ของเน่าเหม็น" อยู่เต็มไปหมด

ประการสุดท้ายที่อาจารย์ฝากไว้ คือ พ่อแม่ควรให้ลูกๆ ฝึกกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ เพราะความคิดไม่ได้หมายถึง การที่สมองเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการจดจำรูปแบบของความคิดเราด้วย ซึ่งการจัดกระบวนการทางความคิดที่ดี ย่อมทำให้เรามีโอกาสใช้ข้อมูลที่มีอยู่ได้มากขึ้นอีกด้วย

สำหรับกลยุทธ์ในการปรับปรุงและพัฒนาความจำนั้นมีหลายแบบ ตั้งแต่การเทคนิคแบบพื้นๆเช่น การจดบันทึก การหาความสัมพันธ์ของข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการเรียบเรียงและจัดระบบข้อมูลใหม่เพื่อให้สมองเราเห็นเป็นภาพและจดจำได้ดีขึ้น

โดยในหนังสือจะมีรายละเอียดและแบบฝึกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจำแบบต่างๆ เช่น การจำจากสิ่งที่เห็น, การอาศัยความสัมพันธ์กับภาพในใจ, การจัดกลุ่ม ลำดับชั้นหรือแยกประเภทของสิ่งต่างๆ, การจัดลำดับเหตุการณ์, การทำแผนที่การเรียนรู้ (Mind Mapping), การทำเป็นแผนภูมิ, การทำผังเปรียบเทียบ เป็นต้น

หรือใครจะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝึกความจำจากหนังสือเล่มอื่นๆเดี๋ยวนี้ก็มีออกมาให้ซื้อหาได้ทั่วไป ส่วนใครจะถนัดใช้วิธีแบบไหนกับการจำเรื่องอะไรบ้างอันนี้ก็ต้องลองฝึกกันดูค่ะ

สำหรับตอนต่อไปเราจะมาต่อกันเรื่อง การฝึกคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) กันนะคะ 

--------------------------------------------------------------------

"นอกจากนี้หนังสือชุดนี้ยังอยากให้ท่านมีแนวทางที่จะพัฒนาลูกตามศักยภาพของเขา ความเก่งของคนมักเกิดจากการมุ่งเป็นคนดี และการมุ่งทักษะสำคัญที่จะทำให้เขาอยู่ในสังคมอย่างมีประโยชน์และมีความสุข เป็นสิ่งรับประกันได้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากกว่าการมุ่งเคี่ยวกรำให้ลูกเป็นอัจฉริยะ เพราะวันที่ท่านตั้งใจปั้นลูกให้เป็นอัจฉริยะให้ได้ วันนั้นลูกหมดโอกาสที่จะเป็นอัจฉริยะบุคคลแล้ว"

ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์
--------------------------------------------------------------------

แนะนำหนังสือชุดสร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ

เนื่องจากช่วงปิดเทอมนี้ปั้นสิบได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพ มศว.ประสานมิตร จริงๆกิจกรรมยังเพิ่งเริ่มเท่านั้นเลยยังเล่าเรื่องผลการร่วมกิจกรรมไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ในวันแรกที่เข้าร่วมกิจกรรม ทางคณะผู้จัดงานได้แยกให้ผู้ปกครองเข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการ และส่วนหนึ่งให้รับฟังการอธิบายจาก ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอัจฉริยภาพ ประจำศูนย์ฯ

ส่วนที่น่าสนใจมาก คือ อาจารย์ท่านแบ่งปันว่า นอกจากปัญหาด้านการศึกษาที่เราทราบกันอยู่ในปัจจุบันแล้ว เด็กไทยรวมถึงผู้ใหญ่ในปัจจุบันขาดทักษะหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างมาก และทักษะนี้ไม่เกี่ยวกับว่าคนๆนั้นจะเรียนหนังสือเก่งหรือไม่ก็ตาม ท่านบอกว่าคนไทยมากถึง 90% ขาดทักษะนี้ น่าตกใจใช่ไหมคะ และทักษะนั้นก็คือ "ทักษะการคิด" นั่นเอง

มาถึงตรงนี้ท่านไม่ได้อธิบายว่าทักษะการคิดที่ท่านพูดถึงคืออะไร แล้วเราจะฝึกตัวเองหรือสอนลูกได้อย่างไร แต่ท่านแนะนำให้ไปอ่านหนังสือของท่านแทนซึ่งได้อธิบายไว้แล้วอย่างละเอียด (ซึ่งบังเอิญมีอยู่แล้วที่บ้านแต่วางบนหิ้งไว้จนฝุ่นจับ ^^") เป็นหนังสือชุดสร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะซึ่งหวานมีอยู่ทั้งหมด 3 เล่ม ประกอบด้วย

เล่ม 1 กลยุทธ์สร้างลูกปัญญาเลิศ
เล่ม 2 ฝึกลูกรักให้เป็นนักคิด
เล่ม 3 IQ สูง SQ ต่ำ (High IQ, Low SQ)
เล่ม 4 สร้าง EQ ให้ลูกรัก

เมื่ออ่านแล้วจะทราบว่าเป้าประสงค์ของการสร้างอัจฉริยะที่อาจารย์กล่าวถึงในหนังสือ ไม่ได้หมายถึง การสร้างอัจฉริยะตัวน้อยที่บวกลบเลขได้ อ่านหนังสือออก หรือเล่นดนตรีได้ตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก ซึ่งเด็กเหล่านี้ท่านจะนิยามว่าเป็นเด็กศักยภาพสูงเท่านั้น เพราะคำว่าอัจฉริยะทางหลักวิชาการบุคคลจริงๆนั้น หมายถึง "คนที่สร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นอย่างเป็นที่ประจักษ์ในระดับของสากลโลก และผลงานนั้นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ" ดังนั้นเราจึงพบว่าบุคคลที่ถือเป็นอัจฉริยะบุคคลจริงๆแล้วส่วนใหญ่มีอายุมากแล้ว และได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมาอย่างมากมายและที่สำคัญท่านเหล่านี้มีวิธีการ"คิด" ที่ไม่เหมือนคนอื่น!

ตัวอย่างอัจฉริยะบุคคลที่ท่านกล่าวถึงในหนังสือ มีมากมายจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นไฟฟ้ามาให้เราใช้, โคลด ออสการ์ โมเนท์ ศิลปินผู้ฉีกกรอบ, Gaudi สถาปนิกและนักคิดอัจฉริยะของสเปน, เซอร์ ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบกฎแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก, อาร์คีมีดีส นักคิด โบราณตั้งแต่ 380 ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้น

Monday, January 14, 2013

[Recommend]:: แนะนำหนังสือแบบฝึกหัดเตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัย

ตั้งแต่เล็กๆเมื่อสอนปั้นสิบหวานจะเริ่มจากความรู้ทั่วๆไปที่เรานึกออกก่อน เช่น ทำความรู้จัก สัตว์ และสิ่งของรอบๆตัว รูปทรงต่างๆ สี จำนวน ตัวเลข อักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษ 

พอปั้นสิบโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็เริ่มมองหาหนังสือแบบฝึกหัดมาให้ลูกทำ แต่ปัญหาที่เจอคือไม่รู้ว่าเล่มไหนเหมาะกับลูกเรา วัยขนาดนี้ควรทำแบบฝึกเนื้อหาอะไรบ้าง จะอ้างอิงตามเกณฑ์อายุที่ปกหนังสือระบุ บางเล่มก็ยากไป เนื้อหาก็ข้ามไปเรื่องโน้นทีเรื่องนี้ที ไม่มีการเรียงตามลำดับความง่ายไปยาก พอลูกทำไม่ได้เราก็มากังวลอีกว่าหรือลูกเราจะเรียนรู้ช้ากว่าเกณฑ์ ทำเอาคนเป็นแม่เครียดไปเลย จนกระทั่งไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงทำให้เข้าใจว่าเราไม่สามารถวัดความสามารถเด็กตามอายุได้ แต่เด็กแต่ละคนจะมีศักยภาพในการเรียนรู้แต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ดังนั้นหากเด็กที่เราสอนไม่เข้าใจในเรื่องใด ให้ย้อนลงไปสอนเนื้อหาที่ง่ายกว่านั้นให้เขาเข้าใจก่อนแล้วจึงค่อยขยับเนื้อหามาสอนเรื่องที่มีความซับซ้อนขึ้นแทน 

ด้วยเหตุนี้หวานจึงได้ปรับให้ปั้นสิบได้ทำแบบฝึกเป็นชุด ที่มีเนื้อหาเรียงลำดับจากง่ายไปยากแทน อะไรที่ยากทำไม่ได้ก็ให้เขาข้ามไปก่อน แล้วเรามาร์กหัวข้อนั้นไว้เพื่อเตรียมเนื้อหาและวิธีการสอนเรื่องนั้นๆ แล้วจึงกลับมาทำความเข้าใจกับปั้นสิบผ่านการสอนและกิจกรรม  จากนั้นค่อยให้กลับมาทำแบบฝึกหัดนั้นอีกรอบ 

สำหรับรายชื่อหนังสือที่หวานซื้อตุนไวให้ปั้นสิบบางส่วนเป็นรายการชื่อหนังสือเตรียมสอบสาธิตจากคุณแม่ท่านหนึ่งซึ่งได้มาจากการค้นในหาในเน็ต บางส่วนได้จากการเดินเลือกอ่านตามงานสัปดาห์หนังสือด้วยตัวเอง และบางส่วนได้มากจากมรดกของลูกพี่ลูกน้องปั้นสิบเองซึ่งเรียนชั้นโตกว่า ซึ่งรายขื่อหนังสือแบบฝึกหัดที่น่าสนใจประกอบไปด้วย

1. ชุดเตรียมความพร้อมปฐมวัยและชุดสาระการเรียนรู้ปฐมวัย อายุ 3-6 ปี ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
2. ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาตร์ ระดับอนุบาล 1-3 ของสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)
3 ชุดแบบฝึกทักษะเด็กปฐมวัย โดย อ.วรมน สอนสมบุญ จัดจำหน่ายโดย วรรณาบุ๊คส์
4 ชุดเตรียมสอบเข้า ป.1 เสริมทักษะพื้นฐานระดับอนุบาล 3 โดย อ.ทองทิพย์ วงศ์หลิว จัดจากหน่ายโดย สำนักพิมพ์ดอกหญ้าวิชาการ
5 ชุดเพื่อสอบเข้าป.1 เสริมทักษะพื้นฐานระดับอนุบาล โดย อ.สุภัทรา ฤทธิบุตร จัดจากหน่ายโดย สำนักพิมพ์ดอกหญ้าวิชาการ
6 แบบฝึกตาและมือให้สัมพันธ์กัน เล่ม 1-4 โดย อ.พูนสุข บุณย์สวัสดิ์ และอ.ลักษณ์ยุทธ ตรีชัย จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์บรรณกิจ (ไว้ฝึกกล้ามเนื้อมือ และทักษะตามือสัมพันธ์กัน)
7. แบบทดสอบเตรียมความพร้อมเชาว์ปัญญา เล่ม 1-2 โดย อ.รสสุคนธ์ ธนะหล่อเสรี
8. ติวลูกเตรียมสอบ คู่มือเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต เล่ม 1-3 ของสำนักพิมพ์ พาสพับลิชชิ่ง

เอาเท่าที่มีข้อมูลตอนนี้ก่อน ถ้ามีแบบฝึกเล่มไหนน่าสนใจอีกค่อยมาอัพเดทกันอีกทีนะคะ


[Patterns and Relations]:: แบบรูปและความสัมพันธ์ (อนุกรม)

จุดประสงค์การเรียนรู้
ในช่วงชั้นปฐมวัยเด็กๆเรียนรู้เรื่องแบบรูปเพื่อฝึกสังเกตุความสัมพันธ์ และสามารถสร้างแบบรูปที่มีความสัมพันธ์กันขึ้นเอง เด็กๆจะได้ฝึกสังเกตุมองหารูปแบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร และสามารถนำไปต่อยอดในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ในบทเรียนพีชคณิตขั้นสูงขึ้นต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งการการได้ปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ คือ การที่เด็กๆจะได้ฝึกทักษะต่างๆเหล่านี้
  - ทักษะการสังเกตุ แยก จัดกลุ่มตามรูปแบบความสัมพันธ์ของวัตถุ 
  - ทักษะการคิดวิเคราะห์ ให้มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน และรอบคอบ

ก่อนเรียนรู้บทเรียนนี้ผู้เรียนควรมีพื้นฐานในเรื่องต่อไปนี้ (ขึ้นอยู่กับระดับความซับซ้อนของแบบรูป)
  - รูปทรงเรขาคณิต สี ขนาด 
  - จำนวนและตัวเลข ลำดับอักษรไทย อังกฤษ

แบบรูปคืออะไร?
แบบรูป (Patterns) หรือที่บางครั้งเรียกว่า อนุกรม คือ ชุดของตัวเลข หรือรูปภาพที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง ในลักษณะของจำนวน รูปร่าง สี หรือขนาด ตามกฏเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเมื่อทราบกฎเกณฑ์หรือความสัมพันธ์ที่กำหนดในแต่ละแบบรูป เราก็จะสามารถบอก คาดเดาหรือคาดการณ์ได้ว่า สิ่งต่างๆ รูปเรขาคณิต รูปอื่นๆ หรือ จำนวนที่หายไปคืออะไร

แบบรูปมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ตามหลักแล้วเราแบ่งแบบรูปออกตามประเภทความสัมพันธ์ได้ดังนี้

1. แบบรูปของจำนวน (Number Patterns)
    เป็น แบบรูปที่แสดงชุดของตัวเลขที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แบ่งออกเป็น
    
    1.1 แบบรูปของจำนวนที่เพิ่มขึ้น
    ตัวอย่าง
    แบบรูปที่จำนวนเพิ่มขึ้นทีละ 1: 1, 2, 3, 4, 5, ...
    แบบรูปที่จำนวนเพิ่มขึ้นทีละ 2: 2, 4, 6, 8, 10, ...
    แบบรูปที่จำนวนเพิ่มขึ้นทีละ 10: 11, 21, 31, 41, ...

    
    1.2 แบบรูปของจำนวนที่ลดลง
    ตัวอย่าง
    แบบรูปที่จำนวนลดลงทีละ 1: 9, 8, 7, 6, 5, ...
    แบบรูปที่จำนวนลดลงทีละ 2: 19, 17, 15, 13, 11, ...
    แบบรูปที่จำนวนลดลงทีละ 5: 50, 45, 40, 35, ...

    
    1.3 แบบรูปของจำนวนที่ซ้ำ
    ตัวอย่าง
    แบบรูปที่ 1: 1, 22, 2, 22, 3, 22, 4, 22, ...
    แบบรูปที่ 2: 4, 56, 6, 56, 8, ...
    แบบรูปที่ 3: 123, 4, 123, 5, 123, 6, ...

2. แบบรูปเรขาคณิต (Geometric Patterns)
    เป็น แบบรูปที่แสดงชุดของรูปเรขาคณิตที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แบ่งออกเป็น
     2.1. แบบรูปที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะของรูปร่าง
         ตัวอย่าง
        จากการจะสังเกตุเราจะเห็นว่าแบบรูปแต่ละแถวเป็นแบบรูปที่ประกอบด้วยรูปเรขาคณิตสีเดียวกันแตกต่างกันเพียงรูปทรงที่เรียงสลับตามลำดับซ้ำกันไปเรื่อยๆ 

     2.2. แบบรูปที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะของสี
        ตัวอย่าง
        จากการสังเกตุเราจะเห็นว่าแบบรูปแต่ละแถวเป็นแบบรูปที่ประกอบด้วยรูปเรขาคณิตรูปทรงเดียวกันแตกต่างกันเพียงสีที่เรียงสลับตามลำดับซ้ำกันไปเรื่อยๆ 

     2.3. แบบรูปที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะของขนาด
         ตัวอย่าง
       จากการสังเกตุเราจะเห็นว่าแบบรูปแต่ละแถวเป็นแบบรูปที่ประกอบด้วยรูปเรขาคณิตรูปทรงเดียวกันสีเดียงกันแตกต่างกันเพียงขนาดที่เรียงสลับตามลำดับซ้ำกันไปเรื่อยๆ


3. แบบรูปอื่นๆ (Picture Patterns)

    เป็น แบบรูปที่แสดงชุดของรูปภาพที่ไม่ใช่รูปเรขาคณิตที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
    เช่น แบบรูปที่มีทิศทางสัมพันธ์กัน
    ตัวอย่าง
         จากการสังเกตุเราจะเห็นว่าแบบรูปนี้เป็นแบบรูปที่ประกอบด้วยรูปรูปภาพต่างๆเรียงสลับกันไปเรื่อยๆตามข้อกำหนดของแต่ละแบบรูป                      

การสอนลูกให้รู้จักแก้ปัญหาแบบรูป
การแก้ปัญหาแบบรูปไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กเล็กที่จะเข้าใจวิธีคิดและสามารถตอบได้ด้วยตัวเอง เราจึงต้องค่อยๆสอนทีละขั้น โดยก่อนที่จะให้ลูกๆทำแบบฝึกหัด เราสามารถสอนเค้าผ่านการฝึกสังเกตุแบบรูปที่พบเห็นรอบๆตัว เช่น ลวดลายบนเสื้อผ้า ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน รวมไปถึง การเรียงตัวของลูกปัดบนสร้อยหรือการจัดเรียงกระเบื้องที่ปูพื้นและผนังห้องน้ำ เป็นต้น จากนั้นเมื่อเขาเริ่มเข้าใจความหมายของแบบรูปแล้วเราอาจชวนลูกทำกิจกรรมฝึกการสังเกตผ่านการเล่น เช่น ใช้สิ่งของในบ้านมาต่อกัน ร้อยลูกปัด พิมพ์ภาพ หรือแม้แต่ใช้ ตัวต่อที่ลูกเล่นบ่อยๆมาใช้สอนก็ได้ เมื่อสอนแล้วควรเริ่มจากรูปแบบที่ง่ายไม่ซับซ้อนให้ลูกฝึกจนเกิดความชำนาญเสียก่อนแล้วจึงขยับระดับความยากของเนื้อหาไปสอนขั้นที่ซับซ้อนขึ้นไป ตามลำดับดังนี้

ขั้นที่ 1. ฝึกสังเกตแบบรูปที่เรียงกันเป็นเส้นตรงแถวเดียว (อนุกรมแถวเดียว) เพื่อฝึกสังเกตหารูปแบบความสัมพันธ์ และจำนวนภาพในแต่ละชุดภาพก่อน

กิจกรรม: ให้เด็กๆช่วยกันหาภาพหรือจำนวนที่หายไปจากแบบรูปที่กำหนดกันนะคะ
ข้อ 1
ข้อ 2
ข้อ 3
ข้อ 4
2, 4, 6, ...

ก.  10    ข. 8    ค. 0  

ขั้นที่ 2. ฝึกสังเกตุแบบรูปที่นอกเหนือจากการต่อกันเป็นเส้นตรง เช่น แบบรูปวงกลม หรือแบบรูปเก้าช่อง เพื่อฝึกทักษะการสังเกตุความสัมพันธ์ในแบบรูปที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่จริงๆก็ยังใช้แนวคิดเดียวกัน กรณีแบบรูปวงกลมอาจจำลองการร้อยลูกปัดเป็นเส้นแล้วค่อยนำมามัดเป็นวงกลมจะช่วยให้เด็กๆเห็นภาพความสัมพันธ์ชัดขึ้นค่ะ

กิจกรรม: ให้เด็กๆช่วยกันหาภาพหรือจำนวนที่หายไปจากแบบรูปที่กำหนดกันนะคะ
ข้อ 5

ข้อ 6
ข้อ 7
ข้อ 8
ข้อ 9
ข้อ 10
ข้อ 11
ข้อ 12

ขั้นที่ 3. ฝึกสังเกตแบบรูป 2 ชั้น (อนุกรม 2 ชั้น) เพื่อฝึกทักษะการสังเกตุความสัมพันธ์ในแบบรูปที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ในแบบรูปหนึ่งอาจมีความสัมพันธ์ทั้งรูปร่างและขนาดในแบบรูปเดียวกัน เป็นต้น

กิจกรรม: ให้เด็กๆช่วยกันหาภาพหรือจำนวนที่หายไปจากแบบรูปที่กำหนดกันนะคะ
ข้อ 5
ข้อ 6
ข้อ 7
ข้อ 8

สำหรับคำตอบ ดูได้ที่หน้า เฉลย ค่ะ

สำหรับโจทย์ฝึกทักษะเพิ่มความชำนาญเพิ่มเติมสามารถหาได้ในหนังสือแบบฝึกหัดแนะนำ โดยควรให้เด็กๆฝึกสังเกตุจากแบบรูปที่ง่ายไม่ซับซ้อนก่อนแล้วจึงค่อยให้ทำโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นค่ะ

Thursday, January 10, 2013

[Get Ready for Schoo]:: เตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัย

ปีนี้ปั้นสิบเริ่มเตรียมตัวเข้าเรียนชั้น ป.1 แล้ว จากคุณแม่มือใหม่ที่สอนลูกไม่เป็นเลย ผ่านไปหนึ่งปีเหมือนพอจะจับทางได้ว่าต้องสอนอะไรบ้าง และแต่ละเรื่องต้องทำยังไงลูกถึงจะเข้าใจ เลยจดบันทึกไว้เผื่อคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆที่อยากสอนลูกตามหัวเรื่องนั้นๆจะได้มาแชร์ความรู้กันนะคะ แม้จะไม่ถูกต้องครบถ้วนตามหลักวิชาการทั้งหมดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ อย่างไรก็ดีหากโอกาสหน้ามีความเข้าใจเพิ่มเติมก็จะเข้ามาปรับปรุงเนื้อหาต่อไป สู้ๆค่ะ เพื่อลูกของเรา

ถึงจะเป็นเด็กอนุบาลตัวน้อยๆ แต่ก็มีเรื่องที่เค้าต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในชั้นประถมต่อไปหลายเรื่องเลย รวมๆก็น่าจะประกอบด้วยทักษะพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ,  และทักษะเชาว์ปัญญา ซึ่งกรอบการเรียนรู้ที่ได้รวบรวมไว้เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมลูกนี้ หวานอ้างอิงจากมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละวิชาสำหรับเด็กประถมชั้นปีที่ 1 ภายใต้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 

หมายเหตุ  เนื่องจาการเรียนรู้ในช่วงชั้นปฐมวัยมักมีเนื้อหาบูรณาการรวมหัวข้อต่างๆที่ต้องเรียนรู้เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการสังเกตุสิ่งต่างๆรอบตัวและจากประสบการ์ณที่ได้ลงมือทำ บ่อยครั้งเราจึงพบว่าแบบทดสอบของเด็กวัยนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะเรื่องของทักษะทางเชาว์ปัญญา ซึ่งทักษะเชาว์ปัญญาของเด็กปฐมวัยนี้เนื้อหาจะเน้นการฝึกทักษะด้านการสังเกตุ ทักษะกระบวนการคิด และทักษะความรู้รอบตัวเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนวิชาอื่นๆในขั้นสูงขี้นต่อไป

คณิตศาสตร์

ช่วงชั้นปฐมวัยควรได้รับการเตรียมความพร้อมให้มีความรู้ทางคณิตศาสตร์ ครอบคลุมพื้นฐานเกี่ยวกับ 5 หมวดหลัก คือ จำนวน, การวัด, เรขาคณิต, พีชคณิต และการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น เนื้อหาในส่วนนี้จึงแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

1. จำนวนและตัวเลข
    1.1 การบอกจำนวน | 0-5 | 0-10 | 0-20 | 0-100 |
    1.2 การอ่านและการเขียน | เลขฮินดูอารบิก | เลขไทย | ตัวหนังสือ |
    1.3 การเขียนในรูปกระจาย | หลักหน่วย | หลักสิบ | หลักร้อย | 
    1.4 การเปรียบเทียบจำนวนและการใช้เครื่องหมาย = > < 
    1.5 การเรียงลำดับจำนวน 0-5 | 0-10 | 0-20 | 0-100 |
    1.6 การนับ | เพิ่มทีละ 1 | เพิ่มทีละ 2 | ลดทีละ 1 |
    1.7 การบวกจำนวนที่มีผลบวกไม่เกิน | 5 | 10 | 20 | 100 | 
    1.8 โจทย์ปัญหาการบวก
    1.9 การลบจำนวนที่มีตัวตั้งไม่เกิน | 5 | 10 | 20 | 100 | 
    1.10 โจทย์ปัญหาการลบ
    1.11 การบวก ลบระคน
    1.12 โจทย์ปัญหาการบวก ลบระคน
    
2. การวัด
    2.1 การวัดขนาด  | ความยาว | ความสูง | ความหนา |
    2.2 การวัดน้ำหนัก(การชั่ง) 
    2.3 การวัดปริมาตร(การตวง)
    2.4 เวลา | ช่วงเวลาในแต่ละวัน | วันในหนึ่งสัปดาห์ | เดือนในหนึ่งปี | จำนวนวันในแต่ละเดือน | 

3. เรขาคณิต
4. พีชคณิต
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น

ทักษะทางเชาว์ปัญญา
ทักษะทางเชาว์ปัญญา
ในที่นี้ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 3 ส่วนคือ ทักษะการสังเกตุ ทักษะการวิเคราะห์ และความรู้รอบตัว ซี่งปกติจะเป็นทักษะที่เด็กได้จากการเล่นและการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน โดยเนื้อหาที่พบบ่อยในข้อสอบวัดทักษะทางเชาว์ปัญญาประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. ทักษะการสังเกตุ
    1.1 ภาพเหมือน-ภาพต่าง   
    1.2 ภาพซ้อน
    1.3 ต่อลายภาพ 2 มิติ 
    1.4 สมมาตร 
    1.5 ภาพตรงข้าม 
    1.6 ภาพสะท้อน
    1.7 ภาพซ้อน
    1.8 เงาซ้อน
    1.9 ภาพตัดต่อ
    1.10 ภาพหมุน
    1.11 ภาพหมุน Shape

2. ทักษะกระบวนการคิด
    2.1 ความสัมพันธ์ 2 แกน
    2.2 แบ่งทีละเท่าๆกัน
    2.3 แทนสัญลักษณ์
    2.4 แทนสัญลักษณ์จัดหมวดหมู่
    2.5 ภาพที่หายไปจากชุด
    2.6 พับ-ตัด 2 ส่วน
    2.7 แบบรูป(อนุกรม)แถวเดียว (เดี่ยว, คู่)
    2.8 อนุกรมวงกลม
    2.9 อนุกรม 9 ช่อง (เดี่ยว​, คู่)
    2.10 คิดในวงกลม
    2.11 คิดในตาราง 9 ช่อง
    2.12 เหตุผล
    2.13 เหตุผลคิดวิเคราะห์
    2.14 ลูกเต๋า
    2.15 มองต่างมุม
    2.16 มองต่างมุม Top view
    2.17 แบ่งสัดส่วน

3. ความรู้รอบตัว
    3.1 จัดหมวดหมู่
    3.2 ระดับน้ำ
    3.3 ระดับน้ำ(การแทนที่)
    3.4 จม-ลอย

ภาษาไทย
สำหรับภาษาไทย กระทรวงศึกษาได้แบ่งพื้นฐานภาษาไทยที่เด็กต้องเรียนรู้ออกเป็น การอ่าน, การเขียน, 
การฟังและการพูด, หลักการใช้ภาษาไทย, วรรณคดีและวรรณกรรม

การอ่าน
อ่านออกเสียงคำคล้องจอง และข้อความสั้นๆ
บอกความหมายของคำและข้อความที่อ่าน
ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
คาดคะเนเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่าน
อ่านหนังสือตามความสนใจอย่างสม่ำเสมอและนำเสนอเรื่องที่อ่าน
บอกความหมายของเครื่องหมายและสัญลักษณ์สำคัญที่มักพบเห็นในชีวิตประจำวัน
มีมารยาทในการอ่าน

การเขียน
คัดลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัด
เขียนสื่อสารด้วยคำและประโยคง่ายๆ
มีมารยาทในการเขียน

การฟัง การดู และการพูด
ฟังคำแนะนำ คำสั่งง่ายๆและปฏิบัติตาม
ตอบคำถามและเล่าเรื่อง
ที่ฟังและดู ทั้งที่เป็นความรู้และความบันเทิง
พูดแสดงความคิดเห็น และแสดงความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู
พูดสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์
มีมารยาทในการฟัง การดูและการพูด

หลักการใช้ภาษาไทย
บอกและเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเลขไทย
เขียนสะกดคำและบอกความหมายของคำ
เรียบเรียงคำเป็นประโยคง่ายๆ
ต่อคำคล้องจองง่ายๆ

วรรณคดีและวรรณกรรม
บอกข้อคิดที่ได้จากการอ่านหรือการฟัง วรรณกรรม ร้อยแก้วและร้อยกรอง สำหรับเด็ก
ท่องจำบทอาขยานตามที่กำหนดและบทร้อยกรองตามความสนใจ